ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยอง
“ รักษาความสงบ
เคารพคำสั่งศาล
คุ้มครองตุลาการ
เป็นเจ้าพนักงานที่ดี ”
รักษาความสงบ
- เจ้าพนักงานตำรวจศาลจักต้องให้ความเอาใจใส่ในหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลทรัพย์สินและอาคารสถานที่ของศาลยุติธรรม รวมถึงป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาลยุติธรรม
เคารพคำสั่งศาล
- เจ้าพนักงานตำรวจศาลจักต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี และพร้อมรับอำนาจในการจับผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อจับได้แล้วให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว
คุ้มครองตุลาการ
- เจ้าพนักงานตำรวจศาลจักต้องกล้าหาญ มีไหวพริบ ในการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม รวมถึงบุคลากรต่าง ๆ ในศาลยุติธรรมและ สำนักงานศาลยุติธรรม
เป็นเจ้าพนักงานที่ดี
- เจ้าพนักงานตำรวจศาลจักต้องเป็นผู้ยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ จริยธรรม เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง มีความสุภาพ และเสียสละ
โครงสร้างของกฎหมาย
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มีทั้งหมด 11 มาตรา นอกจากบททั่วไปและบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมายแล้ว มีบทบัญญัติมาตรา 4 ถึงมาตรา 10 ได้บัญญัติสาระสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้าพนักงานตำรวจศาล เริ่มตั้งแต่การจัดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจศาล (มาตรา 5) คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม (มาตรา 6) การประสานความร่วมมือขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น (มาตรา 7) การฟ้องคดีต่อศาลกรณีเจ้าพนักงานตำรวจศาลทำละเมิด (มาตรา 8) เกี่ยวกับอาวุธปืน (มาตรา 9) และสถานะความเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาลซึ่งจะได้พิจารณาในรายละเอียดต่อไป ผู้รักษาการกฎหมาย พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 11 บัญญัติให้ประธานศาลฎีการักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากโดยสภาพแล้วเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมโดยเฉพาะ |
เกี่ยวกับนิยามศัพท์
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 ได้บัญญัตินิยามศัพท์ไว้ 2 คำ คือ "ศาล" และ "เจ้าพนักงานตำรวจศาล" ดังนี้
"ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม
"เจ้าพนักงานตำรวจศาล" หมายความว่าบุคคลที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
การที่กฎหมายใช้คำว่า "เจ้าพนักงานตำรวจศาล" นั้น เป็นการใช้ถ้อยคำที่พยายามสื่อความหมายภาษาอังกฤษว่า Court Marshal หรือ เจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มครองศาล ซึ่งอาจจะถอดความหมายมาเป็นภาษาไทยได้ยาก จะใช้คำว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ศาลยุติธรรม ก็อาจจะสื่อความหมายต่อสังคมได้ยาก จึงต้องมีคำที่สื่อง่าย ๆ ว่า ตำรวจศาล คำที่เป็นทางการจึงเป็น "เจ้าพนักงานตำรวจศาล” ซึ่งอย่างน้อยก็สื่อความหมายแตกต่างว่าไมใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานตำรวจทั่วไป อาจจะลดความสับสนในหมู่ประชาชนได้ระดับหนึ่งและในอดีตก็เคยมีตำรวจรัฐสภา นำร่องมาก่อนและใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรณีของตำรวจรัฐสภานั้นมีฐานะเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญประเภททั่วไป ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 7 (2) มาตรา 27 (4) โดยกฎคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาใช้ชื่อตำแหน่งว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา" และ มีกฎหมายคือ พระราชบัญญัติยศตำรวจรัฐสภา พ.ศ. 2512 กำหนดยศ 2 ชั้น คือ ชั้นสัญญาบัตร และชั้นประทวน ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดความสับสนได้เพราะคล้ายกับตำรวจทั่วไป
เกี่ยวกับการก่อเหตุร้ายในศาลหรือภัยคุกคามในศาลอันเป็นที่มาของการมีกฎหมายเกี่ยวกับเจ้าพนักงานตำรวจศาล ลักษณะของกลุ่มหรือองค์กรอาชญากรรม ส่วนมากจะเป็นกรณีการหลบหนีของจำเลยหรือผู้ต้องหาขณะมาศาล หรือการจี้จับตัวผู้พิพากษาในบัลลังก์เพื่อต่อรองกับการหลบหนีหรือใช้เป็นตัวประกัน ดังในอดีตมีกรณีการก่อเหตุร้ายที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยจี้จับตัวผู้พิพากษาหญิงจากบัลลังก์ศาลใช้เป็นตัวประกันหลบหนีเข้าป่าลึก แต่ก็มีการติตตามจากฝ่ายทางการสามารถช่วยเหลือมาได้ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2529 เหตุการณ์จำเลยในคดีปล้นเงินเดือนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้รับอาวุธปืนจากญาติที่มาฟังการพิพากษา จำเลยใช้กระดาษปิดบังอำพรางไว้ แล้วเดินไปใกล้ผู้พิพากษาที่บัลลังก์อ้างว่าจะขอยื่นคำร้อง เมื่อได้จังหวะก็ใช้ปืนจี้ผู้พิพากษาบนบัลลังก์ต่อรองเพื่อหลบหนี มีการเจรจาต่อรองกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ในที่สุดมีการแย่งปืนได้ และสามารถยุติเหตุการณ์ได้ด้วยดี
ต่อมามีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คือ การก่อเหตุร้ายที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา โดยการวางระเบิดร้ายแรง เพื่อฆ่าคู่อริที่มาฟังการพิจารณาคดีที่ศาล มีคนตายหลายคน หลังจากนั้นก็มีกรณีเกิดเหตุประปราย เช่น การแหกที่คุมขังที่ศาลจังหวัดทุ่งสง การฆ่าตัวตายโดยการกระโดดจากอาคารศาล กรณีที่เกิดความสูญเสียหรือผลกระทบต่อตัวผู้พิพากษาโดยตรง คือ กรณีผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีถูกยิงถึงแก่ความตายที่ภาคใต้ ในขณะที่เกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ศาลก็ได้รับผลกระทบด้วย มีการยิงจรวดอาร์พีจีเข้ามาในอาคารศาล มีการขว้างระเบิดเข้ามาในศาลอาญาผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ถูกข่มขู่ คุกคาม จึงจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาในลักษณะมีหน่วยรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะของศาลในลักษณะ court marshal เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของบุคคล สถานที่ และรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล
แม้เจ้าพนักงานตำรวจศาล จะมีหน้าที่และอำนาจในลักษณะที่คล้ายกับ US Marshal ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประเทศสหรัฐอมริกา US Marshal หรือ The United States Marhals senices (USMS) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทด้านการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้นโดย The judicary Act of 1789 ในสมัยของประธานาธิบดี George Washingtion โดยมีการจัดตั้ง The Office of The Untted States Marshal ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1969 อยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม ในความรับผิดชอบของสำนักงานอัยการสหรัฐ (The United States Attorney Gereral) ซึ่งจะทำหน้าที่ด้านกำหนดแนวทางให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ Marshal กลาง (federal judicial districts) เพราะบทบาท us marshal นั้น จะมีบทบาทด้านการบังคับใชักฎหมายให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล และการดำเนินการในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบทบาทดั้งเดิมนั้นจะเน้นการติดตามจับกุมผู้หลบหนี คุ้มครองบุคลากรของศาล การจัดการทรัพย์สินในคดีอาญา การคุ้มครองพยาน
ในปัจจุบันหน้าที่ของ US Marshal จะครอบคลุมกรณีต่าง ๆ ดังนี้
- การรักษาความปลอดภัยในศาล
- การรักษาความปลอดภัยแก่บุคลากรของศาล
- สืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยตามหมายศาล
- การควบคุมจำเลยมาศาล
- การคุ้มครองพยานและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด เช่น กฎหมายฟอกเงิน กฎหมายยาเสพติด
- การควบคุมดูแลผู้ต้องจับหรือนักโทษในเรือนจำ
ดังนั้น สภาพของภารกิจและอำนาจหน้าที่ตลอดจนขนาดขององค์กรของ US Marshal นั้น จะแตกต่างจากเจ้าพนักงานตำรวจศาลของไทยมาก เพราะโดยสภาพของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นระบบสหรัฐ มีรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ ขณะที่ไทยเป็นรัฐเดี่ยว ศักยภาพในการดำเนินการตามภารกิจขนาดใหญ่ดังกล่าวอาจจะทำได้ยาก